นายชยนต์ เจตน์จิราวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานกลยุทธ์และกลุ่มงานคอมเมอร์เชียล บริษัท ไอ.พี. วัน จำกัด เปิดเผยถึงแนวทางด้าน ESG ว่า จากวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจควบคู่กับความยั่งยืนมาตลอด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Into Sustainability คือ 1 ใน Core Value ของบริษัท ซึ่งยึดถือว่าทุกผลิตภัณฑ์ต้อง ดีต่อผู้ใช้ ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมที่สอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และการนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ยังสนับสนุนแนวคิดลดขยะจากผลิตภัณฑ์ให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ตั้งเป้าภายในปี 2025 พลาสติกและขยะที่ออกมาจากโรงงาน ไอ.พี. วัน จะสามารถกลับสู่ขบวนการรีไซเคิลหรือนำไปเป็นพลังงานได้ทั้งหมด รวมถึงผลิตภัณฑ์ วิกซอล (VIXOL) ผลิตภัณฑ์แบรนด์แรกของบริษัท ซึ่งได้ใส่ในเรื่องของนวัตกรรม และการเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนมาตั้งแต่เริ่มต้น เช่น ลดขนาดฝาพลาสติกเป็น lightweight ช่วยลดการใช้พลาสติกไปได้กว่า 10 ตัน ต่อปี
กระทั่งถึงจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนานวัตกรรมการนำขวดวิกซอลซึ่งเป็นขวดพลาสติกสี (HDPE) กลับมาใช้ใหม่ ที่ทางไอ.พี.วันเป็นผู้บุกเบิก โดยการนำบรรจุภัณฑ์ในครัวเรือนที่ใช้แล้วนำมาคัดแยก และเข้าสู่ขบวนการรีไซเคิลจนได้เป็นพลาสติก PCR HDPE (Post Consumer Recycled HDPE) กลับมาขึ้นรูปขวดใหม่
โดยได้เริ่มนำร่องใช้กับวิกซอล รุ่น VIXOL POWER ขวดสีดำ สร้างเป็นวงจรปิด (Close Loop) ให้กับการผลิตขวดวิกซอลกว่า 20 ล้านขวดต่อปี ไม่ปล่อยให้กลายเป็นขยะในระบบนิเวศอีกต่อไป ถือเป็นก้าวแรกที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง จุดประกายให้สังคม รวมไปถึงผู้บริโภคที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์วิกซอลให้มีความรู้เรื่องการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ และคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้บริษัทยังขยายจำนวนตู้รีฟิลผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มไฮยีน (Hygiene Refill Station) เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก สนับสนุนแนวคิด Zero Waste มากว่า 2 ปี แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความท้าทายครั้งสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ซ้ำ (Reuse) เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ทั้งนี้ได้ติดตั้งและเปิดให้บริการตู้รีฟิลผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มไฮยีนในพื้นที่สาธารณะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
ล่าสุดบริษัท เปิดจุดให้บริการตู้รีฟิลผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มไฮยีนเพิ่ม โดยบริษัทฯ มีแผนจะขยายจุดให้บริการครอบคลุมจังหวัดชั้นนำในภูมิภาคต่างๆ ตั้งเป้าหมายให้มีผู้มาใช้ทั้ง 14 จุดให้บริการราว 200 ล้านมิลลิลิตร ซึ่งสามารถทำให้ขยะพลาสติกหายไปจากระบบได้ไม่ต่ำกว่า 450,000 ชิ้น และจำนวนดังกล่าวยังมีส่วนช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้มากถึง 24,000 กิโลกรัม
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมแนวคิด Zero Waste ร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค ลดปริมาณขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในด้านการจัดการขยะของประเทศ ปี 2565 2570 ที่มุ่งหวังจัดการขยะมูลและนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุด
"ปัญหาขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่ของโลก เพราะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ โดยในปี 2563 วารสาร Science Advances ระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนขยะพลาสติกในขยะทั่วไปมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ในแต่ละปีประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกเฉลี่ยปีละกว่า 4 ล้านตัน ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ ซึ่ง บริษัทเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ก่อตั้งองค์กร จึงได้กำหนดเรื่องการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาเป็นยุทธ์ศาสตร์หลักในการดำเนินธุรกิจมาตลอด 50 ปี"
อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ยกระดับนวัตกรรม ผ่านการแก้ไขปัญหาที่สร้างผลกระทบในวงกว้างระดับประเทศ หรือระดับโลก จึงริเริ่มโครงการ I.P. Life Lab ซึ่งถือเป็นครั้งแรกขององค์กรเอกชน ที่ทำหน้าที่เสมือนตัวกลางในการรับฟังปัญหาต่าง ๆ โดยเริ่มสร้าง แพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวมปัญหาจริงของผู้บริโภคมาผ่านกระบวนการคิดจริง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานวัตกรรม เพื่อค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาและลงมือทำจริง ด้วยการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขได้ถูกจุด ด้วยมุ่งให้คนในสังคมไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้พบว่าปัญหาที่ หลาย ๆ คนแชร์กันมาปัญหาส่วนใหญ่กว่า 80% คือปัญหาในเรื่องของขยะ ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ หากทุกคนร่วมมือกันทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งเราจะเน้นหลักการในการแก้ปัญหา และช่วยให้โลกของเรามีความยั่งยืนได้อยู่ 3 เรื่องผ่านโครงการ Waste to Wonderful ได้แก่
Reduce: ลดการใช้ขยะพลาสติก จากความพยายามต่อเดือนเราสามารถลดขยะพลาสติกได้มากถึง 400,000 kg
Recycle: ปลุกชีวิตของที่ใช้แล้วให้กลับมาใช้ใหม่ นั่นคือ เปลี่ยนกล่องโยเกิร์ตพร้อมดื่ม IVY เป็น Ivy Plant Pot กระถางต้นไม้รดน้ำ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าการปลูกต้นสัก ในพื้นที่เหมาะสมเกือบ 170,000 ต้น ต่อปี นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนสภาพของขยะให้มีคุณค่า เรายังส่งเสริมในการปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ดีขึ้น
Upcycle: ชุบชีวิตขยะด้วยดีไซน์และนวัตกรรม โดยนำสินค้าอย่างซองบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว มาทำเป็นกระเป๋า ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าให้ขยะ จนกลายเป็น Hygiene Upcycling bag
"บริษัทมีกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยการใช้พลังงานทดแทน ไฟฟ้าที่ผลิตจากแผง Solar roof ซึ่งปัจจุบัน เราติดตั้งทั้งหมด 4 อาคาร ที่สำนักงานใหญ่ 1 อาคาร ที่ไอพีบางปู 2 อาคาร และไอพีฉะเชิงเทรา 1 อาคาร"
ทั้งนี้ บริษัท ไอ.พี. วัน ก่อตั้งปี 1972 โดยอุทัย ธเนศวรกุล ซึ่งเป็นทั้ง CEO และผู้ก่อตั้ง ที่เรียนด้านเคมีที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งชอบทดลองและทำอะไรใหม่ ๆ ก่อนใช้ความรู้ด้านเคมีมาคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ วิกซอล ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ไอ.พี. วัน ได้ต่อยอดด้วยการคิดค้นสินค้าใหม่ ๆ เพื่อตอบความต้องการของผู้บริโภค
โดยบริษัทมีโรงงานในประเทศไทย 2 โรงงาน และโรงงานที่เวียตนาม ซึ่งมีพนักงานกว่า 1,700 คน มีสินค้าเกิน 400 SKUs และขยายธุรกิจไปต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันได้มีการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ 18 ประเทศ Vietnam, Myanmar, Cambodia, Lao, China, HK, Macau, Taiwan, Bangladesh, Russia, Pakistan, Maldives, Nepal, UAE, Australia, Brunei, Qatar, Bahrain มียอดขายเติบโตในปี 2566 มากถึง 64% มี office อยู่ที่ประเทศเวียตนาม และพม่า เรามีการลงทุนขยายสร้างโรงงานที่เวียตนาม เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต