โลกของของธุรกิจยุคใหม่ ตัวเลขกำไร หรือการลดต้นทุนอาจจะไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด ซึ่งยุคนี้สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือเรื่องของความยั่งยืน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่เริ่มลดลง รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันในบางประเด็นของสังคม
แต่อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจว่าการสร้างความยั่งยืนนั้นแท้จริงคืออะไร สามารถเริ่มต้นหรือทำได้ในลักษณะไหน ดังนั้น เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นภาพและพร้อมใจมาเริ่มสร้างความยั่งยืนกันมากขึ้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมและกำหนดทิศทางเพื่อพัฒนานวัตกรรมภายใต้ความยั่งยืน จะพาไปพบกับมุมมองและเหตุผลในการพัฒนาความยั่งยืนที่ภาคธุรกิจต้องหันมาให้ความสนใจและทำกันอย่างจริงจังขึ้น พร้อมกับความสำเร็จจากองค์กรที่ยืนด้วย ความยั่งยืน แบบที่เป็นรูปธรรม
จุดประกายความสำเร็จกับ 3 ธุรกิจที่ยืนบนวิถีความยั่งยืน
ประเทศไทยมีหลายองค์กรที่บรรจุเรื่องความยั่งยืนไว้ในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ สร้างการสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ รวมถึงนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเกิดความยั่งยืน เช่นเดียวกับ 3 ตัวอย่างองค์กรธุรกิจรักษ์โลกและธุรกิจเพื่อสังคมที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์และแนวทางการดำเนินงานเพื่อสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืนขององค์กร ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ บริษัท ไอ.พี. วัน จํากัด และ Qualy แบรนด์ไทยระดับโลกผู้ออกแบบของใช้พลาสติกรักษ์โลกที่ต่างมีแนวทางน่าสนใจและลงมือทำกันอย่างจริงจัง
ภก.ชาญชัย ธรรมร่มดี กรรมการบริหารมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ เล่าว่า มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ตั้งต้นที่จะช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย Good Health At Low Cost หรือ สุขภาพดีราคาถูกของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ หลังมีการตัดงบประมาณเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการผลิตยาร่วมทุนที่มีค่าคอร์ทสูง จึงเป็นโอกาสให้มูลนิธิฯ ฟื้นฟูยาสมุนไพรในสวนพฤกษศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กลับมามีบทบาทสำคัญเหมือนเมื่อ 200 ปีก่อน ซึ่งหากนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบันผ่านมา 25 ปีที่สามารถสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านยาสมุนไพรให้ถูกนํากลับมาใช้และมีความสำคัญต่อการดูแลรักษาโรคในการแพทย์แผนปัจจุบันได้สำเร็จ รวมถึงทำให้สินค้ายาสมุนไพรสามารถกระจายออกจากโรงพยาบาลไปสู่สาธารณะ ซึ่งมูลนิธิฯ ถือเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ที่มีแนวคิดในเรื่องของความยั่งยืนมาอย่างยาวนาน
ขณะที่ นางสาวสิรินารถ ธเนศวรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอ.พี. วัน จํากัด อธิบายว่า บริษัท ไอ.พี. วัน จํากัด เป็นองค์กรผู้ผลิตคิดค้นสินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่คู่คนไทยมา 52 ปี ภายใต้ปรัชญาของบริษัทที่ต้องการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพให้คนไทยใช้ เพราะมองว่าสินค้าที่ดีและมีคุณภาพจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้องค์กรและผู้บริโภคได้ โดยมุ่งพัฒนาทั้งสินค้า คน และกระบวนการทำงาน เริ่มจากการพัฒนาสินค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการเปลี่ยนสารในน้ำยาปรับผ้านุ่มให้เป็นแพลนต์ เบส ส่วนตัวบรรจุภัณฑ์ใช้วัสดุที่ผ่านกระบวนการรียูส รีไซเคิล อัพไซเคิล รวมถึงลดปริมาณการใช้น้ำ และสุดท้ายการปลูกฝังและปรับพฤติกรรมของคนในองค์กรให้รู้จักดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นจากการแยกขยะ เพื่อสร้างดีเอ็นเอของคนในองค์กรให้มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมและพร้อมมุ่งมั่นพัฒนา ต่อยอดสินค้า และกระบวนการทำงานให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืนมาตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ในขณะที่คู่แข่งก็ยังไม่ได้เริ่มต้นทำ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความกล้าและท้าทายขององค์กรที่เริ่มต้นจนทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ปิดท้ายที่ นายธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง QUALY แบรนด์ผู้ออกแบบของใช้พลาสติกรักษ์โลก ที่เล่าว่า ตอนเริ่มต้นธุรกิจไม่ได้นึกถึงเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก แต่พยายามจะพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่คนใช้ในชีวิตประจำวันให้สะดวกสบาย น่าใช้ มากขึ้น ด้วยการสร้างมิติใหม่ๆ เชิงนวัตกรรมและศิลปะ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกดี แต่เมื่อเห็นว่า พลาสติก ที่นำมาใช้ผลิตเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จึงทบทวนและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยนำขยะพลาสติกกลับมาใช้เป็นวัสดุเข้าสู่ระบบการผลิตที่สะอาดเพื่อผลิตเป็นสินค้าทดแทนการใช้ทรัพยากรใหม่ ภายใต้แนวคิด ดีไซน์เพื่อโลกที่ยั่งยืน (design for sustainable world) ควบคู่กับการชวนผู้บริโภคให้มารับผิดชอบร่วมกันตามหลักการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งแต่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของใช้ที่ผลิตขึ้นด้วยการไม่ทำให้เป็นสินค้าแฟชั่น ผู้บริโภคก็จะพิจารณามากขึ้น ไม่รีบใช้รีบทิ้ง ตลอดจนมีโปรแกรมด้านการเปลี่ยนชิ้นส่วน การซ่อม การออกแบบให้ใช้งานอยู่ในสภาวะที่ดีได้ยาวนานที่สุด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความรับผิดชอบต่อขยะที่เราสร้าง ตั้งแต่การผลิตไปจนบริโภค ซึ่งผู้ที่ซื้อจาก QUALY ไปแล้วหากชำรุดสามารถนำมาคืนพร้อมรับส่วนลดในการซื้อสิ่งใหม่ และสุดท้ายคือการรีเทิรน ขยะของใครก็ตามที่เป็นพลาสติก บริษัทจะรับเพื่อนำกลับคิดหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะพยายามดึงทรัพยากรที่หมดอายุแล้วให้กลายเป็นทรัพยากรใหม่ที่มีคุณค่า
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.salika.co/2024/05/15/why-is-sustainability-a-choice-for-every-business/